วิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของกระดูกและฟันโดยปกติร่างกายจะได้รับวิตามินดีหลัก ๆ 2 ทาง ด้วยกัน
1.ทางอาหาร อาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรลที่สุก รวมไปจนถึงในบางประเทศมีการผสมวิตามินดีลงไปในอาหาร เช่น โยเกิร์ต น้ำส้ม
2.ทางแสงแดด การออกไปเจอแดดในสภาวะที่ใส่เสื้อแขนสั้นขาสั้น แล้วก็ได้รับแสงแดดอย่างน้อย ๆ ต่อเนื่อง 15 นาทีขึ้นไป จะช่วยในการสังเคราะห์วิตามินดี 3 ให้ร่างกายได้
คนไทยในวัยทำงานถึง 1 ใน 3 อยู่ในภาวะขาดวิตามินดี เนื่องมาจากลักษณะการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ที่ต้องตื่นเช้าไปทำงานอยู่ในร่ม ออกกำลังกายก็อยู่ในยิม อยู่ในฟิตเนส ทำให้มีโอกาสที่จะโดนแดดน้อยลง รวมไปจนถึงการทาครีมกันแดดอยู่ตลอดเวลา ก็ทำให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดดน้อยลง พออายุมากขึ้นก็ประทานอาหารได้ไม่ครบ 5 หมู่ วิตามินดีที่ได้จากอาหารก็น้อยลงไปด้วย ก็ยิ่งทำให้เกิดภาวะขาดวิตามินดีได้ง่ายขึ้น
หากร่างกายขาดวิตามินดีนาน ๆ จะมีโอกาสทำให้เกิดภาวะกระดูกบาง ภาวะกระดูกพรุน กระดูกอ่อนในเด็ก นอกจากนั้นการขาดวิตามินดี ยังมีความสัมพันธ์กับโรคบางอย่าง เช่น ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะมะเร็งหลาย ๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ รวมไปจนถึงมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้มีการศึกษาพบว่า วิตามินดีมีส่วนช่วยเพิ่มสมรรถภาพ ในคนที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมร่วมกับภาวะการขาดวิตามินดีด้วย วิตามินดียังมีคุณสมบัติเป็น antioxidant หรือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้นวิตามินดีจึงช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย
การรับประทานวิตามินดีในรูปแบบของวิตามินเสริม ถือเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่สงสัยหรือว่ามีภาวะขาดวิตามินดี อย่างไรก็ตามในกรณีที่เราอยากจะรับประทานวิตามินเสริม ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จริง ๆ แล้วควรจะมีการตรวจระดับวิตามินในร่างกายก่อน ว่าขาดมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะวางแผนการเสริมวิตามินให้ถูกต้อง เพราะหากร่างกายได้รับวิตามินดีที่มากเกินความต้องการ เป็นระยะเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้
ข้อมูลโดย : พญ.ณิชา ตั้งภาพงษ์
เรียบเรียงโดย : Medisci