มะเร็งผิวหนัง

        ปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการตายในอันดับแรกของคนไทย มะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด และมะเร็งผิวหนัง ซึ่งมะเร็ง หมายถึง เซลล์เนื้อร้ายที่เปลี่ยนแปลงมาจากเซลล์ปกติของร่างกาย โดยเซลล์เนื้อร้ายนี้จะมีการเจริญเติบโตและแพร่กระจายไปอยู่รอบด้านของเซลล์ปกติอย่างรวดเร็ว โดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นก้อนหรือเป็นแผลมะเร็งขนาดใหญ่ การแพร่กระจายเช่นนี้ทำให้มีเลือดออกจากการทำลายหลอดเลือดหรือเกิดการเน่าตายของเซลล์มะเร็งจากการที่ก้อนมะเร็งโตเร็วมากจนขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงในที่สุดจะทำให้สูญเสียเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นไป

        ในที่นี้จะขอกล่าวถึงมะเร็งผิวหนัง ซึ่งผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากเนื่องจากผิวหนังทำหน้าที่ปกคลุมและป้องกันอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนั้นผิวหนังจึงมีโอกาสเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดด สารพิษและสารเคมีต่างๆ โดยส่วนใหญ่มะเร็งผิวหนังมักเป็นที่บริเวณใบหน้า แขน ขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และลำตัว พบมากในผู้สูงอายุ 40 – 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันมักพบผู้ที่เป็นมะเร็งผิวหนังอายุน้อยลงเรื่อยๆ

 

สาเหตุของมะเร็งผิวหนัง ได้แก่

  • การถูกแสงแดดมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวขาว เคยผิวไหม้หรือนอนอาบแดดเป็นประจำ
  • การถูกรังสีเอกซเรย์ในปริมาณสูง
  • การเปลี่ยนแปลงของแผลเรื้อรัง เช่น แผลเป็นจากรอยไหม้ น้ำร้อนลวกของผิวหนัง
  • การระคายเคืองเรื้อรังจากสารเคมี เช่น ได้รับสารหนูในปริมาณสูงจากการรับประทานยาแผนโบราณเป็นระยะเวลานาน
  • กรรมพันธุ์

มะเร็งผิวหนังที่พบบ่อย มี 3 ชนิด คือ

  1. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นฐานของหนังกำพร้าแบ่งตัวผิดปกติ (Basal Cell Carcinoma) เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด มีลักษณะเป็นก้อนตุ่มนูน ขอบม้วน อาจมีสีดำหรือแตกเป็นแผล หรือเป็นผื่นแบนราบ พบบ่อยบริเวณที่ถูกแสงแดดมาก เช่น ใบหน้าและมือ มะเร็งชนิดนี้จะแพร่กระจายช้าและมักจะไม่มีการลุกลามไปส่วนอื่น หากเป็นแล้วมีการรักษา โรคก็จะหายขาด
  2. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ในชั้นหนังกำพร้าแบ่งตัวผิดปกติ (Squamous Cell Carcinoma) เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบเป็นอันดับ 2 มีลักษณะเป็นขุย มีสะเก็ด นูน แดง แตกเป็นแผลและเลือดออกง่าย พบบ่อยบริเวณที่ถูกแสงแดดมาก สามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นได้ ถ้าตรวจพบในระยะแรก สามารถรักษาให้หายขาดได้
  3. มะเร็งที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีแบ่งตัวผิดปกติ (Malignant Melanoma) เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบได้น้อยที่สุด แต่ร้ายแรงและมีอัตราการตายสูงที่สุด มีลักษณะคล้ายไฝหรือขี้แมลงวัน หรือเป็นจุดสีดำบนผิวหนัง พบที่บริเวณผิวหนังและอวัยวะอื่นๆ สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปตามต่อมน้ำเหลือง กระแสเลือดและไปยังอวัยวะต่างๆ ได้

การตรวจวินิจฉัย
        เราควรหมั่นสำรวจร่างกายตนเองอย่างละเอียด โดยการส่องกระจก ดังนี้

  • ยกแขนขึ้น ตรวจดูแขน รักแร้ มือ หลังมือ ข้อศอก
  • ตรวจดูต้นขาด้านหน้า ด้านหลัง น่อง หน้าแข้ง เท้า หลังเท้า ซอกนิ้ว
  • ตรวจดูหลัง คอด้านหน้า ด้านหลัง หนังศีรษะ ไรผม
  • ตรวจดูหลัง หนังศีรษะ ไรผม

        หากตรวจพบก้อนเนื้อผิดปกติตามร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์และเมื่อแพทย์วินิจฉัยและสงสัยว่าอาจจะเป็นมะเร็งผิวหนัง ควรตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ และถ้าพบว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง แพทย์จะตรวจพิเศษเพิ่มเพื่อดูการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งว่ามีลุกลามไปยังอวัยวะอื่นหรือไม่

การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงแสงแดดโดยเฉพาะช่วงเวลา 00-15.00 น ซึ่งเป็นช่วงที่มีรังสี UV สูงสุด
  • สวมเสื้อผ้าสีอ่อน เนื้อแน่น หมวกปีกกว้างหรือกางร่มเมื่อออกแดด
  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 30 เป็นประจำทุกวัน
  • หมั่นสำรวจร่างกายตนเองเป็นประจำ เมื่อพบความผิดปกติของผิวหนัง ควรรีบปรึกษาแพทย์
  • ควรเลือกรับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้ รวมทั้งธัญพืชที่มีสารต่อต้านมะเร็ง เช่น สตรอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ส้ม แครอท มะเขือเทศ ถั่ว บล็อกโคลี คะน้า ผักปวยเล้ง หรืออาจเลือกรับประทานอาหารเสริมที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เช่น เบตาแคโรทีน วิตามินซี วิตามินอี แร่ธาตุสังกะสี ซีลีเนียม

การรักษา แพทย์ผิวหนังจะวินิจฉัยและพิจารณาเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับรอยโรคของมะเร็งผิวหนัง ซึ่งมีหลายวิธี ได้แก่

  • การผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออกด้วยมีดหรือเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์
  • จี้ด้วยไฟฟ้า
  • การฉายรังสี เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งเฉพาะที่ โดยเฉพาะมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น สมอง ปอด ตับ
  • การให้เคมีบำบัดโดยการรับประทานหรือฉีด เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
  • การให้ interferon หรือ interleukin เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน

ผลข้างเคียงของการรักษา

  • การผ่าตัด อาจทำให้เกิดแผลเป็น เช่น keloid หรือการตัดต่อมน้ำเหลืองอาจทำให้ขาหรือแขนบวม
  • การฉายรังสี อาจทำให้ผมบริเวณที่ฉายรังสีร่วง หรือมีอาการอ่อนเพลีย
  • การให้เคมีบำบัด อาจให้เกิดโรคโลหิตจาง ติดเชื้อง่าย เลือดออกง่าย หรือผมร่วง
  • การสร้างภูมิคุ้มกัน อาจปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร หรือท้องร่วง
โปรแกรมการรักษาแบบการแพทย์ทางเลือก

        หลักสำคัญของการรักษา คือ เพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงเพียงพอ เซลล์มะเร็งจะถูกทำลาย และยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการขยายตัวและแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่

  1. ล้างพิษร่างกาย เพื่อลดการอักเสบ การสะสมสารพิษและสารอนุมูลอิสระในร่างกายที่อาจเป็นต้นเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็ง และยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย สามารถทำด้วยวิธีการต่างๆ ดังนี้
    • ให้วิตามินทางเส้นเลือด ซึ่งประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลากหลายชนิดที่จำเป็นต่อการขับของเสียหรือสารพิษต่างๆออกจากร่างกาย เพื่อช่วยเร่งให้ตับสามารถขจัดสารพิษได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านการอักเสบ และยังประกอบด้วยสารอาหารต่างๆ เช่น วิตามินบีรวม เกลือแร่แคลเซียม แมกนีเซียม ช่วยบรรเทาอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยล้าเรื้อรัง และยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ร่างกายซึ่งเป็นหลักสำคัญของการป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง
    • โอโซนบำบัด เป็นการนำเลือดมาผสมกับโอโซนและออกซิเจนภายนอกร่างกาย แล้วนำกลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือด ช่วยตับกำจัดสารพิษ ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนสำหรับการหายใจของเซลล์ ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ถือว่าเป็นการรักษาโรคมะเร็งแบบการแพทย์ทางเลือกวิธีหนึ่งที่สามารถใช้เสริมวิธีการรักษาแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน
    • การล้างพิษด้วยการให้ H2O2 (Hydrogen peroxide) ช่วยควบคุมการสร้างพลังงาน เพิ่มการไหลเวียนเลือด กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายซึ่งเป็นหลักสำคัญของการป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง
    • Far Infrared อินฟราเรดสามารถผ่านลงมายังชั้นไขมันใต้ผิวหนังได้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการสะสมของสารพิษ จึงช่วยเร่งการขับเหงื่อและสารพิษออกจากร่างกาย ทั้งโลหะหนัก สารเคมี และสารพิษที่ละลายในไขมันให้ออกมากับเหงื่อ ช่วยให้เซลล์ต่างๆได้รับสารอาหารและออกซิเจนมากขึ้นจากการไหลเวียนของเลือดที่ดีขึ้น ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย จึงช่วยป้องกันมะเร็งได้
  2. โภชนบำบัด เช่น
    • รับประทานอาหารไขมันต่ำ จากศึกษาส่วนใหญ่พบว่าการรับประทานผักและผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เส้นใยอาหารสูง และมีไขมันต่ำ จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้
    • เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด และทำสุกใหม่ๆ ไม่ควรรับประทานอาหารที่เก็บไว้นานโดยไม่ได้อุ่นให้เดือดใหม่ หรืออาหารแห้งที่ไม่แน่ใจว่าทำเสร็จใหม่ๆ เช่น ขนมปังตามร้านค้าที่ไม่มีวันหมดอายุ
    • รับประทานผักผลไม้ให้หลากหลายชนิดให้มากขึ้น เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ผักคะน้า หัวผักกาด บร็อคโคลี่ แครอท ปวยเล้ง มะเขือเทศ แอปเปิ้ล ฝรั่ง แก้วมังกร ฯลฯ โดยควรเลือกชนิดออร์กานิค ปลอดสารพิษ หรือล้างให้สะอาด เพื่อลดการได้รับสารเคมีหรือสารพิษที่เป็นสารก่อมะเร็ง
    • ลดอาหารดองเค็ม อาหารปิ้ง-ย่าง รมควัน และอาหารที่ถนอมด้วยเกลือไนเตรท-ไนไตร์ท ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
    • ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ก้อยปลา ปลาจ่อม ฯลฯ
    • งดการรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ได้แก่ อาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น กุ้งแห้ง กุนเชียง หมูแดดเดียว อาหารที่มีแป้งและน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม ขนมหวาน อาหารที่มีสารปรุงแต่งกลิ่น สีและรส
    • รับประทานอาหารเสริมที่ช่วยในการลดการอักเสบ เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิต้านทาน และช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็ง เช่น วิตามินอี ไลโคปีน สารสกัดจากบร๊อคโคลี่ สารสกัดจากพริกไทยดำ สารสกัดจากขมิ้น สารสกัดจากพืชตระกูลกะหล่ำ วิตามินดี 3 ฯลฯ
    • งดการดื่มแอลกอฮอล์
  3. ควบคุมน้ำหนักตัว ด้วยการออกกำลังกายและการลดรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง
  4. งดการสูบบุหรี่
  5. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาโดยไม่จำเป็น
  6. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  7. นอนหลับและพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพราะการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยเพิ่มการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง
  8. อย่าเครียด อย่าทำงานหนัก และหาวิธีจัดการกับความเครียด
  9. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม โดยไม่ควรหักโหม อย่างน้อยควรลุกเดินเล่นบ้างเพื่อให้ปอดขยายตัวได้เต็มที่ การออกกำลังกายจะทำให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  10. อาบน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งเช้าและก่อนนอน ฟอกสบู่ให้สะอาดโดยเฉพาะบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ใต้ราวนม ขาหนีบ (ควรเลือกใช้สบู่สำหรับเด็ก) การอาบน้ำจะช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ผิวหนัง หลังอาบน้ำควรเช็ดตัวให้แห้งแล้วใช้โลชั่นทาผิว เพื่อป้องกันผิวแห้ง โดยเลือกใช้โลชั่นที่ไม่มีกลิ่นน้ำหอม แต่ไม่แนะนำให้ใช้แป้งฝุ่น เพราะแป้งฝุ่นจะเป็นตัวนำเชื้อโรคเข้าสู่ปอดได้
  11. หลีกเลี่ยงการรับสารพิษต่างๆ ทั้งจากมลพิษ ยาฆ่าแมลง สารเคมี สารโลหะหนักเข้าสู่ร่างกาย

        นอกจากนี้ควรตรวจติดตามผลโรคมะเร็งผิวหนังตามแพทย์นัดอย่างเคร่งครัด และหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากพบอาการผิดปกติอย่าเพิกเฉย ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและวินิจฉัยอย่างละเอียดว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นหรือไม่ อาการผิดปกติเหล่านี้ ได้แก่

  • ระบบการขับถ่ายหรือการขับปัสสาวะผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด
  • เจ็บคอ เสียงแหบ ไอเรื้อรัง
  • มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย เช่น ขนาดใหญ่ขึ้นผิดปกติ หรือรูปร่างเปลี่ยนแปลง หรือแตกเป็นแผล มีเลือดออก
  • มีก้อนที่ส่วนต่างๆของร่างกาย หรือก้อนโตอย่างรวดเร็ว
  • มีแผลเรื้อรัง รักษาไม่หาย
  • อาหารไม่ย่อย ท้องอืด คลื่นไส้ เบื่ออาหาร
  • ปวดหลัง บั้นเอว
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้