ปัญหาของ “แผลคีลอยด์” มักพบได้บ่อย ซึ่งปัญหานี้เกิดจากความผิดปกติของการฟื้นฟูแผล ร่างกายมีการสร้างคอลลาเจนที่นูนมากกว่าปกติ ทำให้มีรอยนูนออกนอกขอบแผลเดิมที่ควรจะเป็น โดยส่วนใหญ่มักมีอาการเจ็บ คัน แสบ หรือมีอาการระคายเคืองบริเวณแผลบ่อยๆ แผลประเภทนี้ หากมีการเกาแผล ใส่เสื้อผ้ารัดเกินไป หรือมีการเสียดสีบ่อยๆ ก็จะส่งผลทำให้แผลคีลอยด์นั้นขยายขึ้นได้
การรักษา “แผลคีลอยด์” ทำได้หลายวิธี โดยเริ่มตั้งแต่การฉีดยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อเข้าไปลดการสร้างคอลลาเจนที่ผิดปกติ หรือการใช้สาร Botulinum Toxin หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “Botox” ก็สามารถนำมาใช้ในการรักษาแผลคีลอยด์ได้ผลค่อนข้างดี นอกจากการฉีดแล้ว ยังสามารถรักษาแผลคีลอยด์ได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งในการผ่าตัดรักษาคีลอยด์นั้นต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะต้องใช้ความระมัดระวังสูงมากในการผ่าตัด ไม่เช่นนั้นแล้วอาจทำให้แผลใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยการผ่าตัดแผลคีลอยด์ อาจใช้ร่วมกับ “โกรทเฟคเตอร์” การฉายรังสี เลเซอร์ หรือใช้ร่วมกับซิลิโคน ทั้งแบบทา และแบบแผ่นแปะ ในกรณีคนไข้ที่มีจากการโดนไฟลวก แผลถูกความร้อนที่เป็นบริเวณกว้างๆ ก็จะใช้ผ้ารัด หรือใส่ปลอกแขนรัดไว้ เพื่อไม่ให้เกิดแผลคีลอยด์ขึ้นมา และในปัจจุบัน ยังมีเทคโนโลยีตัวใหม่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพลาสม่า (Plasma Effect) ซึ่งก็เป็นอีกอันหนึ่งที่น่าจะนำมาใช้รักษาได้ในอนาคตต่อไป
จะเห็นได้ว่าการ “รักษาแผลคีลอยด์” มีด้วยกันหลากหลายวิธี หากคุณมีเริ่มมีอาการ หรือเริ่มมีแผลคีลอยด์แล้วอยากรักษา แนะนำว่าให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวางแผนการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ เพื่อทำให้การรักษานั้นง่ายขึ้น และใช้ระยะเวลาน้อยกว่าการรักษาเมื่อเป็นเยอะๆแล้วค่ะ