คุยกับหมออัจจิมา : โยโย่ เอฟเฟค ไม่ OK แก้อย่างไรจึงเหมาะสม

โยโย่ เอฟเฟค

ปัญหา 'โยโย่ เอฟเฟค' แม้มิได้รับการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ทว่ากลับทำให้หลายคนกังวลใจว่าจะกลับมาอ้วนอีกครั้งหรือไม่ หลายครั้งผู้คนมักเข้าใจผิดว่า 'การลดน้ำหนัก' จะช่วยให้เราได้ทรวดทรงเอวบางดังวาดในความคิด แต่แท้ที่จริงแล้วการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงต่างหากจึงจะเป็นการดูแลรูปร่างที่ยั่งยืน

และเพื่อไม่ให้น้ำหนักตัวของคุณดีดตัวเหมือนลูกข่างโยโย่กลับสู่มือ การรู้และรับมือถึง Yoyo Effect ก็เป็นสิ่งจำเป็น


โยโย่ เอฟเฟค

โยโย่ เอฟเฟค คืออะไร


โยโย่ เอฟเฟค (Yoyo Effect) คือความไม่สมดุลของร่างกาย ซึ่งเกิดจากการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกวิธี หลาย ๆ คนอาจคิดว่า โยโย่นั้นเกิดขึ้นได้จากการทานยาลดน้ำหนัก พอหยุดทานแล้วก็จะเกิดอาการโยโย่ขึ้นมา แต่แท้จริงแล้ว โยโย่เอฟเฟ็กต์ เกิดขึ้นได้กับการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม ทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดสมดุลอย่างรวดเร็ว พอกลับเข้ามาสู่ภาวะเดิม กลับกลายเป็นว่าน้ำหนักตัวจะพุ่งขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งเกิดขึ้นจากภาวะที่ร่างกายคิดว่าตัวเราขาดสารอาหาร เมื่อเราอดอาหารหรือลดน้ำหนักเร็วเกินไป ร่างกายก็จะลดอัตราการเผาผลาญพลังงาน เพื่อทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานน้อยลง นอกจากนี้ยังมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ เมื่อเรากลับมาทานอาหารปกติ กลับกลายเป็นว่าร่างกายเผาผลาญน้อยลง สารอาหารไม่ได้ถูกนำไปใช้ แต่กลับเก็บเข้าไปสะสมในร่างกาย กลายเป็นภาวะโยโย่ เมตาบอลิซึมของร่างกายเสียไป ทำให้การลดน้ำหนักหลังการโยโย่นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก


โยโย่ เอฟเฟค

ภาวะโยโย่ เอฟเฟค ส่งผลเสียอย่างไรต่อร่างกาย


ภาวะโยโย่ เอฟเฟค มีผลเสียอย่างมากต่อร่างกาย ได้มีการศึกษาและค้นพบว่าทุก ๆ 1 กิโลกรัมของน้ำหนักที่เปลี่ยนไป จะเพิ่มอัตราการเสี่ยงของโรคหัวใจถึง 4% และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตถึง 9% เพราะฉะนั้น ถ้าเราต้องการลดน้ำหนักเราจึงควรลดน้ำหนักให้ถูกวิธี การลดน้ำหนักอย่างช้า ๆ ลดปริมาณเซลล์ไขมันจำกัดพลังงานส่วนเกินที่ทานเข้าไปในร่างกาย ให้น้อยกว่าพลังงานที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ควรรับประทานอาหารไม่น้อยกว่า 1,250 แคล/วัน ควรลดน้ำหนักอย่างช้า ๆ ใน 1 เดือนไม่เกิน 2 กิโลกรัม เพื่อที่จะทำให้การเผาผลาญอาหารไม่เสียไป


โยโย่ เอฟเฟค

จะหลีกเลี่ยงสภาวะโยโย่ เอฟเฟค ได้ด้วยวิธีใดบ้าง


    • ห้ามอดอาหาร เพราะจะทำให้เมตาบอลิซึมในร่างกายสูญเสียไปทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายลดลง เมื่อรับประทานปกติจะทำให้ร่างกายสะสมอาหารมากขึ้น แทนที่จะเผาผลาญไปทำให้เกิดภาวะอ้วน
    • ไม่ควรทานยาลดน้ำหนัก เพราะยาลดน้ำหนักพวกนี้ส่งผลเสียต่อร่างกายไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยาขับปัสสาวะ กลุ่มยากดประสาท ทำให้ไม่รู้สึกหิว หรือยาที่เร่งการเผาผลาญของร่างกาย จะมีผลต่อระดับความดันโลหิตในร่างกายซึ่งอาจมีปัญหารุนแรงถึงชีวิตได้ และยังมีผลข้างเคียงทำให้นอนไม่หลับท้องผูก และผลเสียต่าง ๆ อีกมากมาย
    • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกรับประทานอาหารคลีนอาหารไม่แปรรูป ไม่ทานอาหารปรุงแต่ง เช่น น้ำตาลเทียม สารแต่งกลิ่นแต่งสี แต่งรส หรือแม้กระทั่งผงชูรส เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผลไม้กล่องแปรรูป หรือเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลเทียมเพราะจะทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และส่งผลให้มีปัญหาการทำงานอื่น ๆ ในร่างกาย
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังให้มีการบริหารของหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้มีการเผาผลาญของพลังงานในระยะยาว ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารคลีน
    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายมีการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ
    • ผ่อนคลายตัวเอง เพราะความเครียดเป็นตัวการสำคัญในการสร้างอักเสบและสามารถทำให้อ้วนได้

 



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้