การสูดดมควันธูป เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจริงหรือไม่?

การสูดดมควันธูป เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจริงหรือไม่?

เป็นความจริงค่ะ การสูดดมควันธูปนั้นเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ ในควันธูปนั้นจะประกอบไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า “PM2.5” และยังมีก๊าซต่าง ๆ อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, คาร์บอนมอนอกไซด์, ไฮโดรเจนออกไซด์, มีเทน รวมไปถึงสารก่อมะเร็งหลายชนิด

สารต่าง ๆ ในควันธูปเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น

- มะเร็งปอด
- มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- มะเร็งผิวหนัง
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว


นอกจากโรคมะเร็งแล้ว ควันธูปยังกระตุ้นให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น

- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคภูมิแพ้
- โรคถุงลมโป่งพอง
- โรคในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ แบบเดียวกับที่พบในผู้ที่สูบบุหรี่ประจำอีกด้วย

          ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนี้ ก็จะขึ้นอยู่กับปริมาณ, ระยะเวลาในการสัมผัส และการสูดดมควันธูป ในคนที่ต้องทำงาน หรือว่าต้องอยู่ในศาสนสถานที่มีการจุดธูปปริมาณมากก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เหล่านี้ และนอกจากผลกระทบสุขภาพแล้ว ควันธูปเองจัดเป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศที่ก่อให้เกิด “ปัญหาโลกร้อน” ตามมาอีกด้วย


                ดังนั้นหมอแนะนำให้ “ลด ละ เลิก การจุดธูป” หรือหากต้องการจุดธูปจริง ๆ อาจจะเลือกธูปที่มีขนาดสั้น เพื่อลดระยะเวลาการเผาไหม้ลง หรือเลือกใช้เป็นธูปไฟฟ้าแทน หรือหากต้องการจุดธูปในบ้าน ก็ควรจะทำในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรจุดธูปในห้องที่ปิดทึบ แล้วเวลาที่เราต้องเข้าไปศาสนสถานที่มีการจุดธูปในปริมาณมากก็ควรใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง เพื่อที่จะลดผลกระทบต่อควันธูปลง

 

 

ข้อมูลโดย : พญ.นฤมล ทองศรีเนียม
เรียบเรียงโดย : Medisci

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้