ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า PM 2.5 เป็นหนึ่งในมลพิษทางอากาศ ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญต่อสุขภาพของคนไทย ซึ่งนอกจากผลกระทบที่มีต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือดแล้ว ผิวหนังเอง ก็เป็นหนึ่งในอวัยวะที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะผิวหนังเป็นอวัยวะหลักที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นตลอดเวลา
ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ที่มีต่อผิวหนัง สามารถแบ่งได้เป็น 2 ข้อด้วยกัน โดยความรุนแรงจากผลกระทบทั้ง 2 แบบ จะขึ้นอยู่กับปริมาณความเข้มข้น และระยะเวลาในการสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5
1. ผลกระทบแบบเฉียบพลัน มีการศึกษาพบว่าฝุ่น PM 2.5 จะเข้าไปกระตุ้นการอักเสบที่ผิวหนัง ทำให้เกราะป้องกันผิวแย่ลง ทำให้เซลล์ผิวหนังซ่อมแซมตัวเองได้ช้าลง อาการที่เกิดขึ้นตามมาได้แก่ อาการผด ผื่นคัน ระคายเคือง โดยเฉพาะที่ในคนที่มีภูมิต้านทานผิวต่ำอยู่เเล้ว โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน เป็นสิว หรือกระทั่งในเด็กและผู้สูงอายุก็จะได้รับผลกระทบมากกว่าปกติ เพราะจะทำให้ผดผื่น หรืออาการผิวหนังอักเสบที่เป็นอยู่เดิม กำเริบขึ้นมาได้
2. ผลกระทบแบบเรื้อรัง การสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 ในระยะยาว จะกระตุ้นการแก่ของเซลล์ผิวได้เช่นเดียวกับการโดนรังสี UV และการสูบบุหรี่ โดยพบว่าจะมีการกระตุ้นให้เกิดการทำลายคอลลาเจนในชั้นผิว กระตุ้นการเกิดริ้วรอย และจุดด่างดำ รวมไปถึงทำให้ภูมิต้านทานผิวอ่อนแอลง
สำหรับการป้องกันและหลีกเลี่ยง การไปอยู่กลางแจ้งในบริเวณที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เข้มข้น ควรใส่หน้ากากอนามัยและเสื้อผ้าปกคลุมร่างกายให้มิดชิด นอกจากนี้การทาครีมหรือโลชั่น และการชำระล้างร่างกายให้สะอาด หลังจากการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ก็มีส่วนช่วยในการลดผลกระทบที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ได้
ข้อมูลโดย : พญ.นฤมล ทองศรีเนียม
เรียบเรียงโดย : Medisci